“อุตตม” ไฟเขียวอุบลฯ อินดัสตรี้ ทุ่ม 2.7 พัน ล.ตั้งนิคมอุตสาหกรรมอุบลฯแห่งแรก 2.3 พันไร่ หลังกรมโยธาฯเปลี่ยนผังเมืองสีเขียวเป็นม่วง หนุนลงทุนเกษตรแปรรูป/หุ่นยนต์ ไบโอชีวภาพ โลจิสติกส์ ศูนย์ซ่อมบำรุงเครื่องจักร พร้อมขอ BOI ให้สิทธิประโยชน์ NEEC เท่า EEC
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงพิจารณาให้มีการตั้งนิคมอุตสาหกรรมอุบลราชธานีตามที่บริษัท อุบลราชธานี อินดัสตรี้ จำกัด และกลุ่มสินรุ่งเรือง เสนอแผนร่วมดำเนินกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ซึ่งถือว่าสอดรับกับนโยบายการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (NEEC) ช่วยให้เกิดประโยชน์ทั้งในเรื่องพัฒนาสังคม พื้นที่ และยังเป็นฐานการผลิตของผู้ประกอบการ SMEs ในประเทศและต่างประเทศ ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการต่ำลงจะสามารถแข่งขันในตลาด CLMV และช่วยให้เกิดการสร้างงานคนในท้องถิ่น ได้กว่า 20,000 อัตราในภาคอีสาน ทำให้มีรายได้ GPD สูงขึ้นจากปัจจุบันอยู่ที่ 119,890 ล้านบาท ทั้งนี้ คาดว่าหากนิคมนี้สำเร็จจะทำให้เกิดมูลค่าการลงทุนไม่ต่ำกว่า 65,000 ล้านบาท รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวมีเส้นทางที่สามารถเชื่อมโยงการค้าใน 4 ประเทศ ได้แก่ สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีน มีรถไฟทางคู่และท่าอากาศยานอุบลราชธานีที่จะช่วยสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าในระดับนานาชาติ รวมทั้งยังมีจุดผ่านแดนที่สำคัญ ที่จะทำให้การขนส่งจากกรุงเทพฯ หรือจากท่าเรือภาคตะวันออกไปสู่พื้นที่ได้สะดวกขึ้น
นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ขณะนี้ผังเมืองของพื้นที่ดังกล่าวซึ่งมีขนาด 2,303 ไร่ เป็นสีเขียว 100% จึงได้สั่งการให้กรมโยธาธิการและผังเมือง เร่งดำเนินการแก้ปรับปรุงสีให้เป็นสีม่วงสำหรับภาคอุตสาหกรรม เพื่อที่จะสามารถรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) อย่างอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารได้ เป็นต้น
โดยขณะนี้กรมโยธาฯเร่งดำเนินการแก้ปรับปรุงสีผังเมืองแล้วอยู่ในขั้นตอนที่ 3 จาก 8 ขั้นตอน เมื่อคณะกรรมการพิจารณาด้านผังเมืองและปรับแก้พิจารณาพื้นที่แล้วเสร็จจะส่งเข้าขั้นตอนที่ 4 ใช้เวลาประมาณกลางปี 2562 และประกาศกฎกระทรวง จากนั้นเริ่มทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อีก 1 ปีครึ่ง เมื่อผ่านจากนั้นจะเริ่มออกแบบก่อสร้าง และประมาณปี 2564 จะเริ่มเปิดดำเนินการ
สำหรับสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากการลงทุนในนิคม จะเป็นตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กำหนด โดยมีเกณฑ์การให้ตามประเภทกิจการ (activity-based incentives) หากเอกชนอยากได้สิทธิเพิ่มเติมสามารถใช้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมตามคุณค่าของโครงการ หรือ merit-based incentives ได้
“การขอสิทธิแบบเดียวกับพื้นที่ EEC ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะ EEC คือพื้นที่พิเศษที่มีกฎหมาย EEC โดยเฉพาะในการจะพิจารณาให้สิทธิประโยชน์ ดังนั้นการจะได้สิทธิเท่ากันจะต้องเกิดเป็นพื้นที่พิเศษก่อน ซึ่งในอนาคตก็อาจเป็น NEEC ก็ได้”
นายณัฐวัฒน์ เลิศสุรวิทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อุบลราชธานี อินดัสตรี้ จำกัด กล่าวว่า ได้เตรียมเงินลงทุนเพื่อพัฒนาและก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมไว้ 2,700 ล้านบาท พื้นที่ 2,303 ไร่ ตั้งอยู่ ต.นากระแซง ต.ทุ่งเทิน อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี โดยจะเน้นอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ รวมถึงอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) โดยเฉพาะหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เนื่องจากมีความต้องการ (demand) ทั้งในฝั่งไทยและฝั่งเพื่อนบ้าน ที่จะตามมาอย่างอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อุตสาหกรรมยางขั้นปลาย อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมการผลิตและซ่อมบํารุงเครื่องจักร และศูนย์เครื่องจักรอัตโนมัติสำหรับการเกษตร และอุตสาหกรรมจากการส่งเสริม bioeconomic hubทางบริษัทได้ขอให้รัฐพิจารณาสิทธิประโยชน์บีโอไอให้เท่ากับพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เนื่องจากขณะนี้ได้สิทธิประโยชน์ในกลุ่ม zone 3 ตามพื้นที่จังหวัดที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่ำ
ทั้งนี้ ศักยภาพการเชื่อมโยงของโครงการ ด้วยพื้นที่ดังกล่าวอยู่ห่างจากท่าเรือแหลมฉบัง ประมาณ 600 กม., ห่างจากท่าเรือดานัง ประเทศเวียดนาม ประมาณ 550 กม., ห่างจากช่องจอม ประเทศกัมพูชา ประมาณ 150 กม., ห่างจากช่องสะงำ ประเทศกัมพูชา ประมาณ 130 กม. และห่างจากช่องอานม้า ประเทศกัมพูชา ประมาณ 68 กม.
อย่างไรก็ตาม ถนนทางฝั่งไทยแม้เชื่อมไปถึงด่านอานม้าแล้ว แต่ยังเปิดการเชื่อมต่อไม่ได้เพราะเหตุผลเรื่องความมั่นคง หากเปิดได้การขนส่งผ่านทางประเทศกัมพูชาไปถึงท่าเรือ Cat Lai ซึ่งเป็นท่าเรือใหญ่ที่โฮจิมินห์ประเทศเวียดนามได้สะดวก จะเป็นผลให้นักลงทุนสามารถขนส่งสินค้าผ่านไปยังทะเลจีนใต้ได้ใกล้ขึ้น
สำหรับกิจการนิคมอุตสาหกรรมปัจจุบันบีโอไอจัดให้อยู่ในกลุ่ม B1 โดยได้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมเพื่อกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค (20 จังหวัดรายได้ต่อหัวต่ำ) ซึ่งได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 3 ปี ได้รับสิทธิหักค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า และค่าประปา ได้ 2 เท่าเป็นเวลา 10 ปี และหักค่าติดตั้งหรือก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก 25% ของเงินลงทุน