“จังหวัดอุบลราชธานี”…วันนี้กำลังจะพลิกโฉมครั้งสำคัญ ด้วยเพราะเป็นครึ่งทางของโครงการระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก หรือ EEC ที่เชื่อมตรงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก ทางตอนกลางของประเทศเวียดนามที่จะเชื่อมต่อกับภาคตะวันออกของไทยได้อย่างสะดวก
วาดหวังกันว่า…จะเป็นไข่มุกเม็ดใหม่ ย้อนยุคความเป็น “สามเหลี่ยมมรกต” ศูนย์กลางแห่งตลาดอินโดจีน ที่มี ลาว ไทย กัมพูชา เป็นเครือข่ายร่วมมือกัน
สฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี บอกว่า ถ้าพูดถึงโมเดลสามเหลี่ยมมรกต คือเรื่องการค้าระหว่างประเทศ…ลาว กัมพูชา และไทย ที่จะต้องไปทำให้การค้าชายแดนมีความคึกคักมากยิ่งขึ้น
ความเป็นไปได้ในการนำเอาอุบลราชธานีกลับไปสู่จุดนั้น…เริ่มจากการท่องเที่ยวมีอยู่แล้ว เพียงแต่จะต้องเน้นเรื่องการค้าการลงทุนการแปรรูปการขนส่งสินค้าให้มากขึ้น ที่ผ่านมาไทยมีการนำเข้าวัตถุดิบหลายอย่างโดยเฉพาะวัตถุดิบทางการเกษตรเข้ามาแปรรูปเป็นจำนวนมาก ทำให้ด่านชายแดนที่มีอยู่อาจไม่เพียงพอต้องเปิดเพิ่ม
“การกลับไปสู่แนวคิดสามเหลี่ยมมรกต จะต้องพัฒนาในเรื่องของจุดผ่านแดนถาวรให้เพิ่มมากขึ้นซึ่งทางจังหวัดต้องฟังนโยบายรัฐบาล และเตรียมโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมไว้ ซึ่งกระทรวงคมนาคมมีแผนการลงทุนอยู่แล้วจากโมเดลซีเนียริโอ…รถไฟรางคู่ อุบลฯไปจำปาสักและไปถึงประเทศจีน”
สฤษดิ์ ย้ำว่า อุบลฯ ไม่ใช่แค่อุบลฯ ที่เป็นศูนย์กลางของอีสานใต้ แต่จะเป็นเมืองที่จะเชื่อมเรื่องของทั้งการค้าการลงทุน การท่องเที่ยว ในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปและเรื่องของวัตถุดิบ
“เรามีศักยภาพในเรื่องแรงงาน มีทรัพยากรวัตถุดิบ มีโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมที่พร้อม นอกจากนี้ ยังมีจุดเด่นในเรื่องของการท่องเที่ยว ด้วยองค์ประกอบเหล่านี้ถ้าได้รับการพัฒนาเป็นกลุ่มจังหวัดในส่วนของอีสานใต้ก็จะมีโมเดลที่คล้ายๆกับเบญจบูรพา…แนวทางพัฒนาจังหวัดในกลุ่มภาคตะวันออกที่รองรับอีอีซี”
การมีอุตสาหกรรมหรือทำให้อุบลฯเป็นจังหวัดอุตสาหกรรม… “มีได้” และ… “มีความเป็นไปได้” มากน้อยแค่ไหนอย่างไร พ่อเมืองอุบลฯ บอกว่า ตอนนี้มีการคุยกันหลายฝ่าย ทั้งหอการค้าฯ สภาอุตฯ กรอ.ในระดับจังหวัด เกี่ยวกับโมเดลของอุตสาหกรรมและการมีนิคมอุตสาหกรรมในอนาคตของอุบลฯ แต่จะเน้นให้เป็นอุตสาหกรรมในเชิงนิเวศ…เป็นกรีนอินดัสทรี รูปแบบของแหล่งพักสินค้า แหล่งป้อนสินค้าผ่านระบบคมนาคมของจังหวัด แหล่งแปรรูป
แต่…อุบลฯจะยังไม่ก้าวไปในเรื่องของอุตสาหกรรมหนัก
ปัญหาสำคัญคือความเข้าใจของประชาชนในพื้นที่เพราะพอพูดเรื่องอุตสาหกรรมก็จะเข้าใจว่าคือสิ่งที่เป็นพิษ แต่จริงๆแล้วอุตสาหกรรมยุคใหม่ ของโลกยุคใหม่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว และอุตสาหกรรมก็มีหลากหลายรูปแบบ ที่จะเลือกให้เหมาะกับพื้นที่….อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเกษตร อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป เหมาะกับอุบลฯ เพราะมีความเป็นมิตรกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมสูงมาก เพราะไม่มีขยะ ไม่มีของเสีย สามารถนำมาแปรรูปใช้ได้
มองไปในเรื่องกฎหมายผังเมืองก็สามารถปรับปรุงได้ พื้นที่สีเขียว …วันนี้จะเดินไปข้างหน้า กฎหมายผังเมืองเป็นอุปกรณ์ในการควบคุมพื้นที่แต่ไม่ใช่อุปสรรค ดูที่ความเหมาะสมเป็นหลัก
ที่สำคัญ…“เอสเอ็มอี” ในจังหวัดมีอยู่เยอะมาก ที่ลงทะเบียนแล้วมีมากกว่า 4,000 ราย ก็น่าที่จะมีการยกระดับการพัฒนา ถ้ามารวมกลุ่มใหญ่ๆ แล้วพัฒนาร่วมกันเป็นนิคมอุตสาหกรรมเอสเอ็มอี เน้นการแปรรูป พัฒนานวัตกรรมก็จะทำให้เอสเอ็มอีมีศักยภาพมากยิ่งขึ้น
เหลียวไปมองปัจจัยสำคัญอื่นๆประกอบ อุบลฯยังมีความพร้อมในเรื่องของแหล่งน้ำ ที่มีแม่น้ำสายสำคัญๆอย่างแม่น้ำชี แม่น้ำมูล แม่น้ำโขง…แม่น้ำของภูมิภาค ที่จะสามารถใช้น้ำในเรื่องของอุตสาหกรรมแบบเชิงนิเวศ รวมถึงยังเป็นเส้นทางคมนาคมเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้อีกด้วย
อีกทั้งภูมิศาสตร์ของจังหวัด ที่อยู่ตรงกลางอีอีซีเชื่อมสู่มหาสมุทรแปซิฟิกไปทางเวียดนาม อุบลฯก็ถือว่ามีศักยภาพสูง เมื่อรวมเข้ากับระบบคมนาคมที่มีความพร้อมแล้ว ไม่เพียงอีอีซีแต่เส้นทางจากแม่สอดมุกดาหารที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต อุบลฯก็ยังสามารถเชื่อมต่อไปได้ไม่ยาก
ยังมีในส่วนของแลนด์บริดจ์ ตอนนี้เรื่องของสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ เลือกแล้วว่าจะเป็นอำเภอนาตาล วัดปากแซง ก็จะเป็นส่วนช่วยให้การเดินทางข้ามไปยังแขวงสาละวัน และอัตปือ มีความสะดวกมาก และเป็นเส้นทางเปิดสู่ดานังประเทศเวียดนาม
“อนาคตจะเป็นเส้นทางสำคัญแห่งการค้าการลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนในอีอีซี เพราะการเชื่อมต่อจากแหลมฉบังจะเป็นไปได้โดยสะดวกมากยิ่งขึ้นผ่านเส้นทางนี้”
สฤษดิ์ ฉายภาพเส้นทางจากแหลมฉบังมายังอุบลฯเป็นระยะทางประมาณ 500-600 กิโลเมตรโดยประมาณ จากอุบลฯเชื่อมไปยังประเทศลาวก็แค่ข้ามแม่น้ำโขง ระยะทางไม่กี่กิโลเมตร…จากอุบลฯเชื่อมต่อไปยังประเทศเวียดนาม ประมาณ 300-400 กิโลเมตร และจากอุบลฯ เชื่อมต่อไปยังกรุงพนมเปญ เมืองหลวงของกัมพูชา ประมาณ 400 กิโลเมตรเท่านั้น ถือว่าเป็นข้อได้เปรียบสำคัญกับการเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อจากทุกสารทิศ
ภายในสิ้นปีนี้ก็จะเริ่มเห็นแนวทางแบบเป็นรูปเป็นร่าง ตั้งเป้าการเปลี่ยนแปลงพลิกโฉมครั้งสำคัญภายใน 5 ปี ผ่านแผนนำร่อง “อุบลฯโมเดล” กุญแจสำคัญในการไขประตูบานใหญ่เดินหน้าสู่แนวคิดสามเหลี่ยมมรกต
ข้างต้นทั้งหมดนี้คือภาพรวมของจังหวัดอุบลราชธานีที่มีศักยภาพในด้านต่างๆกับการก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมยุคใหม่ตามแนวนโยบายจากผู้ว่าฯ คือเป็นอุตสาหกรรมแบบกรีนอินดัสทรี และเป็นอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ
ณัฐวัฒน์ และ นนทวัชร์ เลิศสุรวิทย์ สองผู้บริหารหนุ่มไฟแรงจาก “เครืออุบลราชธานีอินดัสทรี” หนึ่งในกลุ่มที่กำลังสนใจจะเข้ามาลงทุนในพื้นที่ มองว่า กลุ่มเราก็มีความพร้อมในเรื่องนี้ได้เตรียมการในด้านต่างๆไว้แล้ว โดยเฉพาะการเข้ามามีบทบาทในการต่อยอด…เป็นส่วนหนึ่งของอุบลฯโมเดล ผ่านแนวนโยบาย แผนงานต่างๆ
“รวมถึงเรื่องของการเข้ามามีบทบาทในส่วนของการผลักดันให้เกิดการสร้างงาน สร้างฐานต่อยอดนวัตกรรมในจังหวัด สู่การเป็นจังหวัดอุตสาหกรรมยุคใหม่”
ในมุมมองของภาคเอกชนก็จะขับเคลื่อนร่วมกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัด พร้อมๆกับหารือกับสถาบันการศึกษาต่างๆในจังหวัด เพื่อนำเอางานวิจัย…การส่งเสริมเกษตรกร…เอสเอ็มอีท้องถิ่น นำมาแปรรูปและพัฒนาในเชิงนวัตกรรมไปสู่อุตสาหกรรมในรูปที่เป็นฐานรองรับกับตลาด CLV (กัมพูชา, ลาว, เวียดนาม) รวมถึงอีซีซี
สิทธิชัย โควสุรัตน์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุบลราชธานี เสริมว่า เราเห็นด้วยกับเรื่องนี้จะต้องทำเรื่องอุตฯเกษตรอินทรีย์ ซึ่งมีแนวทางประชารัฐรองรับอยู่แล้ว ส่วนนิคมอุตสาหกรรมตามแนวทางที่หลายฝ่าย
นำเสนอมานั้นที่เข้าไปสนับสนุนภาคการเกษตร…การแปรรูปในแบบอุตสาหกรรมสีเขียว ทุกฝ่ายสนับสนุนเต็มที่
“การก้าวไปสู่สามเหลี่ยมมรกตอาจจะต้องมีการหารือร่วมกันหลายภาคส่วน โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน แต่ส่วนใหญ่จากความร่วมมือ…ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันในหลายๆด้าน ก็น่าจะมีความเป็นไปได้ แต่ก็ต้องมองรัฐบาลในเรื่องของนโยบายความมั่นคงด้วย”
ข้อมูลฐานทางเศรษฐกิจ ตัวเลขค้าชายแดนที่อุบลราชธานีอยู่ที่ 17,000 ล้านบาทต่อปี…มีตัวเลขจีดีพีอยู่ที่ 1.8 แสนล้านบาทในปี’60 และมีเป้าหมายว่าในปี’61 จะไปให้ถึง 2 แสนล้านบาท
ช่วยเป็นกำลังใจตั้งตารอกันต่อไปว่า “อุบลราชธานีโมเดล”…คิกออฟเมื่อไหร่ จะเป็นรูปธรรมปึงปังเป็นประตูขุมทรัพย์ทางเศรษฐกิจอย่างที่วาดหวังกันกี่มากน้อย…เต็มร้อยหรือไม่