กระทรวงอุตสาหกรรมไฟเขียว จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอุบลฯ สอดรับนโยบาย NEEC มั่นใจไทยได้ประโยชน์ทางการค้า พร้อมแข่งขันตลาด CLMV เตรียมสนับสนุนให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าในระดับนานาชาติเต็มรูปแบบ
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงได้พิจารณาให้มีการตั้งนิคมอุตสาหกรรมอุบลราชธานีตามที่บริษัท อุบลราชธานี อินดัสตรี้ จำกัด และกลุ่มสินรุ่งเรือง เสนอแผนร่วมดำเนินกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เนื่องจากเล็งเห็นประโยชน์ทั้งด้านการพัฒนาสังคม พื้นที่ และการเป็นฐานการผลิตที่มีประสิทธิภาพให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งยังมีความสอดคล้องกับนโยบายการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ (NEEC : Northeastern Economic Corridor)
ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมมั่นใจว่า การดำเนินงานในครั้งนี้จะทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการต่ำลง ผลักดันให้ประเทศไทยมีความพร้อมสำหรับการแข่งขันในตลาด CLMV มากขึ้น อีกทั้งโครงการนี้ยังมีเส้นทางที่สามารถเชื่อมโยงการค้าใน 4 ประเทศ ได้แก่ สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีน โดยมีรถไฟทางคู่ และท่าอากาศยานอุบลราชธานีที่จะช่วยสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าในระดับนานาชาติ รวมทั้งยังมีจุดผ่านแดนที่สำคัญ ที่จะทำให้การขนส่งจากกรุงเทพฯ หรือจากท่าเรือภาคตะวันออกไปสู่พื้นที่ได้สะดวกขึ้น
ด้าน นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้กรมโยธาธิการและผังเมือง เร่งดำเนินการปรับปรุงสีผังเมืองของพื้นที่สำหรับการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอุบลราชธานีขนาด 2,303 ไร่ให้เป็นพื้นที่สีม่วง จากปัจจุบันที่เป็นพื้นที่สีเขียว 100% เพื่อให้พร้อมสำหรับการรองรับอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร ซึ่งขณะนี้กรมโยธาฯ ได้เร่งดำเนินการแก้ปรับปรุงสีผังเมืองแล้วอยู่ในขั้นตอนที่ 3 จาก 8 ขั้นตอน และเมื่อคณะกรรมการพิจารณาด้านผังเมืองและปรับแก้พิจารณาพื้นที่แล้วเสร็จก็จะส่งเข้าขั้นตอนที่ 4 โดยใช้เวลาประมาณกลางปี 2562 และประกาศกฎกระทรวง จากนั้นจึงเริ่มทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อีก 1 ปีครึ่ง เมื่อผ่านจากนั้นจึงจะเริ่มออกแบบก่อสร้าง โดยคาดการณ์ว่าประมาณปี พ.ศ. 2564 จะเริ่มเปิดดำเนินการได้
สำหรับนิคมอุตสาหกรรมอุบลราชธานีจะเน้นการพัฒนาและก่อสร้างอุตสาหกรรมประเภทการแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ รวมถึงอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) โดยเฉพาะหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความต้องการทั้งในฝั่งไทยและฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ดียังมีอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่จะเกิดตามมาด้วยเช่นกัน อาทิ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมการผลิตและซ่อมบํารุงเครื่องจักร และศูนย์เครื่องจักรอัตโนมัติสำหรับการเกษตร เป็นต้น
ทั้งนี้ ด้านศักยภาพการเชื่อมโยงเส้นทางการค้าของโครงการ จะเห็นได้ชัดว่าเป็นพื้นที่ที่ตั้งอยู่ห่างจากท่าเรือแหลมฉบัง ประมาณ 600 กม. ห่างจากท่าเรือดานัง ประเทศเวียดนาม ประมาณ 550 กม. ห่างจากช่องจอม ประเทศกัมพูชา ประมาณ 150 กม. ห่างจากช่องสะงำ ประเทศกัมพูชา ประมาณ 130 กม. และห่างจากช่องอานม้า ประเทศกัมพูชา ประมาณ 68 กม. นอกจากนี้ยังมีเรื่องของถนนทางฝั่งไทยที่ถึงแม้จะเชื่อมไปถึงด่านอานม้า แต่ยังไม่สามารถเปิดการเชื่อมต่อได้เนื่องด้วยเหตุผลเรื่องความมั่นคง แต่หากสามารถเปิดให้เชื่อมโยงได้ จะส่งผลให้การขนส่งผ่านทางประเทศกัมพูชาไปถึงท่าเรือ Cat Lai ซึ่งเป็นท่าเรือใหญ่ที่โฮจิมินห์ประเทศเวียดนามทำได้สะดวกยิ่งขึ้น อีกทั้งยังจะเป็นผลดีให้นักลงทุนสามารถขนส่งสินค้าผ่านไปยังทะเลจีนใต้ได้ใกล้ขึ้นอีกด้วย
ที่มา :
https://www.prachachat.net/economy/news-196221
http://www.tradelogistics.go.th